25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ เป็นวันแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในไทย

วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันที่ประเทศไทยมีการกระจายเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรก

กิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 ด้วยพระดำริของ 'พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน' เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และโทรคมนาคม

พระองค์ทรงดำริตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อพ.ศ.2471 โดยสั่งเครื่องส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง และให้อยู่ในความควบคุมของช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งสถานีที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อสถานีว่า '4 พีเจ' (HS 4 PJ) ต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ขึ้น ทำการทดลองที่ตำบลศาลาแดงใช้ชื่อสถานีว่า 'หนึ่ง หนึ่ง พีเจ' (HS 11 PJ) ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า 'พีเจ' ในยุคนั้น ย่อมาจากคำว่า 'บุรฉัตรไชยากร' อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่านนั่นเอง

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า 'สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท' (Radio Bangkok at Phyathai) ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ พิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

ต่อมา วันที่ 1 มกราคม 2484 กรมโฆษณาการ (เปลี่ยนชื่อมาจากสำนักงานโฆษณาการ) ได้เปลี่ยนชื่อเรียกสถานีวิทยุจากเดิม 'สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท' หรือ Radio Bangkok at Phyathai เป็น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือ Radio Thailand มีฐานะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ