เชียงใหม่-อว.จับมือ มช. มุ่งผลักดัน โครงการ U2T สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน ตอกย้ำความสำเร็จการทำงานบูรณาการ

อว. มุ่งผลักดัน 'โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) (U2T) U2T x RSP @มหาวิทยาลัยเชียงใหม่' ผนึกกำลังอุทยานวิทยาศาสตร์ ตอกย้ำความสำเร็จการทำงานบูรณาการ มุ่งเน้นพัฒนาคน ดึงเทคโนโลยีเข้าช่วยสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ยืนหยัดเพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชน พร้อมยกระดับเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืน สำหรับ 'โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)' หรือ 'โครงการ U2T' โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ล่าสุดขึ้นเหนือเยือน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้สำหรับโครงการ U2T ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากการปรับบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนในพื้นที่ บูรณาการแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาสินค้าให้แก่คนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีการผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ อว. ที่ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ในการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อเกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรม และต่อยอดโครงการ U2T ให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ดร. ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงานแถลงข่าว “โครงการ U2T x RSP @มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) กิจกรรมที่ 2 U2T สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับคณะ

โครงการ U2T ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำความสำเร็จและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานโครงการ U2T ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเสริมศักยภาพในการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งมุ่งมั่นเสริมความรู้ให้กับประชาชนในเรื่อง BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว อันเป็นโมเดลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปรับตัวในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับ BCG ได้ โดยผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ U2T ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นการโชว์สินค้า แชร์เทคโนโลยี และนำไปต่อยอดต่อไปได้

ดร. ดนุช  ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงการดำเนินโครงการ U2T ในตลอดปี 2565 ว่า “โครงการ U2T ได้มีการพัฒนาคนในชุมชนครอบคลุมทั้งสิ้น 7,435 ตำบล โดยตลอดการดำเนินงานได้มีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายมากมายและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน พร้อมเกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยเป็นผลสำเร็จจากการปรับบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน นำศักยภาพที่มีทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการแก้ไขปัญหาและความต้องการของชุมชนที่แตกต่างกัน โดยมุ่งสร้างและบ่มเพาะผู้ประกอบการให้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญต้องมีความรู้เรื่อง BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว อันเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับปรุง แปรรูปและต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เกิดความน่าสนใจได้ ซึ่งโครงการ U2T ได้เสริมองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชน พร้อมสนับสนุนในทุกมิติเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อันโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์จากของในท้องถิ่นได้รับการการันตีในคุณภาพ เสริมสร้างความมั่นใจในอีกระดับ รวมถึงการเสริมทักษะในด้านการตลาดและบริหารจัดการ โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ จากความร่วมมือของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตั้งอยู่ใน 44 มหาวิทยาลัย ครอบคลุมทุกภาคทั่วไทย เป็นการเพิ่มศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติของการทำงานร่วมกับโครงการ U2T อีกด้วย”

ดร. ดนุช  ตันเทอดทิตย์ กล่าวเสริมอีกว่า “ในการส่งเสริมศักยภาพของประชาชนจากโครงการ U2T มุ่งหวังให้เกิดการต่อยอด เพื่อสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ และสามารถผลักดันให้มีการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมหวังให้ส่งออกนอกประเทศได้อีกด้วย เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ”

ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “การดำเนินโครงการ U2T เป็นความสำเร็จจากการทำงานแบบบูรณาการ ของหน่วยงานต่าง ๆ ใน อว. ที่พร้อมพัฒนาคนในชุมชนให้เกิดความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน พิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในความสำเร็จจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นของขึ้นชื่อในท้องถิ่นแต่ได้มีการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนช่วยเสริมทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และสร้างความแตกต่าง เมื่อได้รับความร่วมมือจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าช่วยในการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น นับเป็นผลดีกับคนในชุมชนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่”

โดยได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์เด่นจากจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการ U2T ที่นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากทางมหาวิทยาลัยไปปรับใช้ ให้สื่อมวลชนได้ร่วมเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ออกไปในวงกว้าง สร้างการต่อยอด เกิดการเพิ่มจำนวนการผลิต และเกิดการจ้างงานนำไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น

โครงการ U2T มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากลและเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ตามพันธกิจของ อว. โดยแผนงานในปี 2566 โครงการ U2T ยังคงเดินหน้าในการพัฒนาชุมชน เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เพียงมุ่งมั่นในการสร้างช่องทางในการประกอบอาชีพให้ผู้ประกอบการ ยังมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาครบทุกมิติทั้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การพัฒนาคนด้วยการเสริมความรู้ในด้านความคิดสร้างสรรค์, ความรู้เรื่อง BCG โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน, การตลาด, การบริหารจัดการ และเทคโนโลยี พร้อมสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงไปยังชุมชน มหาวิทยาลัยทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อผลักดันโครงการ U2T สู่ความยั่งยืน

“การดำเนินโครงการ U2T ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ใน อว. ซึ่งตอกย้ำถึงคุณภาพการทำงานแบบบูรณาการในทุกภาคส่วน โดยหลังจากนี้มุ่งหวังต่อยอดให้หน่วยงานภายใต้สังกัด อว. ทั้ง คลินิกเทคโนโลยี, อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เข้ามาทำงานแบบบูรณาการเพื่อเติมความรู้ เสริมเรื่องเทคโนโลยี และสร้างความเข้าใจในด้านการตลาดและการจัดการ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ สร้างผู้ประกอบการมืออาชีพในแต่ละตำบล และเกิดการสานต่อผลิตภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน” ดร. ดนุช  ตันเทอดทิตย์ กล่าวปิดท้าย

Cr. นภาพร /เชียงใหม่